วันเสาร์ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2552

มมส เข้ม!!!! stopdrink งดเหล้าเข้าพรรษา



สภาคณาจารย์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จัดโครงการ “งดเหล้าเข้าพรรษาแบบบูรณาการ” ส่งเสริมการทำกิจกรรมแบบมีส่วนร่วมระหว่างมหาวิทยาลัยมหาสารคามกับองค์กรชุมชน ท้องถิ่น และหน่วยงานภายนอก

ส่วนที่เหลือ เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2552 ณ บริเวณลานชั้น 2 สำนักวิทยบริการ B มหาวิทยาลัยมหาสารคามผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ศุภชัย สมัปปิโต อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการ “งดเหล้าเข้าพรรษา” โดยมี อาจารย์ ดร. ศุภพงษ์ ปิ่นเวหา ประธานสภาคณาจารย์ กล่าววัตถุประสงค์การจัดงาน เพื่อสนับสนุนและเป็นแรงผลักดันพันธกิจของมหาวิทยาลัยมหาสารคามด้านการบริการวิชาการสู่สังคม และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมออกสู่สาธารณชน ชุมชน และท้องถิ่น เป็นการบริการวิชาการและเผยแพร่องค์ความรู้ ภายนอกมหาวิทยาลัยมหาสารคาม อีกทั้งให้สภาคณาจารย์ อาจารย์ พนักงานวิชาการ บุคลากร นิสิตและนักเรียน ได้เห็นถึงคุณค่าในเรื่องคุณธรรม จริยธรรม ในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา
กิจกรรมภายในงาน ได้มีการเสวนาวิชาการหัวข้อเรื่อง “ ลด ละ เลิก เหล้าทั้งเข้าและออกพรรษา” ผู้ร่วมเสวนาโดย พันตำรวจโทวันชัย ยังเทียน รองผู้กำกับการกลุ่มงานสืบสวน ตำรวจภูธรจังหวัดมหาสารคาม แพทย์หญิงสุพิสชา ธีรศาสวัติ คณะแพทยศาสตร์ นายศุภชัย บุตรราช นายกเทศมนตรีตำบลท่าขอนยาง และนายสิทธิศักดิ์ เผ่าพันธุ์ นิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ดำเนินรายการเสวนาโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. วิรัติ ปานศิลา ซึ่งได้มีการพูดคุยแลกเปลี่ยน แสดงความคิดเห็น ในหลายประเด็น พอสรุปได้ดังนี้
สถานการณ์ปัญหา
ปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ของคนไทย 13.59 ลิตรต่อคนต่อปี
มูลค่าโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงปี 2539 – 2544 เฉลี่ยสูงกว่าสองพันล้านต่อปี
อัตราตายต่อปีจากอุบัติเหตุจราจร ของไทยนั้นสูงกว่าเพื่อน โดยไทยตายเฉลี่ยปีละประมาณ 20 ต่อแสน ขณะที่ อินโดนีเซียประมาณ 15 ต่อแสน ศรีลังกาและอินเดียประมาณ 10 ต่อแสน และกลุ่มประเทศตะวันตก(อเมริกา ยุโรป) ประมาณ 5 ต่อแสน ในช่วงเวลาเดียวกัน (2539–2544)
ไทยสูญเสียทางเศรษฐกิจกว่า 2.23% ของ GNP ประมาณ 70,000 ล้าน ในปี 2536 จากอุบัติเหตุจราจรอย่างเดียว หากนับความสูญเสียอื่นๆอันเป็นผลจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เช่น โรคตับ กระเพาะและการบาดเจ็บจากความรุนแรงที่แอลกอฮอล์มีส่วนเกี่ยวข้อง ตัวเลขดังกล่าวจะสูงกว่า แสนล้านต่อปี
แม้เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปว่าการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก่อผลเสียต่อสุขภาพ แต่ว่า แนวโน้มการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของคนไทยกลับสูงขึ้น ทั้งในแง่ของจำนวนผู้ดื่ม ซึ่งเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 2.6 แสนคนต่อปี และในแง่ของปริมาณการดื่มที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์ปัจจุบันพบว่ามีคนไทยบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ราว 15.3 ล้านคน และคิดเป็นมูลค่าการบริโภค 125,000 ล้านบาทต่อปี
การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ก่อให้เกิดผลกระทบทั้งในเชิงสุขภาพและสังคมในหลายด้าน ที่เห็นชัดเจนที่สุด ได้แก่ การที่ผู้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ขับขี่ยานพาหนะ ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุจราจรมากกว่าร้อยละ 50 ของที่เกิดทั้งหมด และเกี่ยวข้องกับการก่อความรุนแรงต่อครอบครัว และบุคคลอื่น ๆ ในลักษณะของการก่ออาชญากรรม อย่างไรก็ตาม ช่วงเทศกาลเข้าพรรษานับเป็นช่วงเทศกาลที่ชาวพุทธจำนวนมากถือเป็นช่วงเวลาสำคัญในการปฎิบัติธรรม และจากการศึกษาวิจัย พบว่า ในช่วงเทศกาลเข้าพรรษาเมื่อปี 2544 มีผู้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ถึงร้อยละ 11.8 ตอบว่าตั้งใจงดดื่มสุราในช่วงเข้าพรรษา (ประมาณจำนวนผู้งดดื่ม 1.8 ล้านคน และมูลค่าการบริโภคลดลง 3,600 ล้านบาท
ด้วยตระหนักในความสำคัญของผลกระทบจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งต่อคุณภาพชีวิตของบุคคลและสังคม และตระหนักในความสำคัญของเทศกาลเข้าพรรษา จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการร่วมรณรงค์อย่างต่อเนื่องอย่างเข้มข้นและจริงจัง
นอกจากนี้ ภายในงาน ยังมีกิจกรรมสร้างสรรค์ ส่งเสริมให้เยาวชน ห่างไกลจากอบายมุข ด้วยกิจกรรมต่างๆ เช่น การประกวดวาดภาพ การนำเสนอคลิปวีดีโอ หัวข้อเรื่อง “ งดเหล้าเข้าพรรษาแบบบูรณาการ” และการแสดงบัลเล่ต์จากนิสิตสาขาวิชาศิลปะการแสดง คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สภาคณาจารย์ มมส โทร. 1403 , 1404ภาพ / ข่าว บุณฑริกา ภูผาหลวง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น